ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ ทำงานอย่างไร รถแต่ละประเภทมีสมรรถนะการขับขี่บนพื้นถนนเปียกลื่นหรือดินทรายที่แตกต่างกัน เพราะการขับเคลื่อนที่แตกต่างกันออกไปแบ่งเป็น ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง ขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา และขับเคลื่อนสี่ล้อ นอกจากนี้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อยังแบ่งออกเป็นขับสี่ล้อฟูลไทม์และขับสี่ล้อพาร์ทไทม์อีกด้วย ผู้ขับขี่อาจทราบว่ารถที่ขับอยู่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบใด แต่อาจยังไม่ทราบถึงวิธีในการทำงานของมัน เราไปดูกันว่า ระบบขับเคลื่อนมันทำงานอย่างไร มันมีแบบไหนกันบ้าง ไปดูกันได้เลยครับ
“ระบบขับเคลื่อน” ของรถแต่ละประเภทมีดังต่อไปนี้
ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า 2 ล้อ
นับว่าได้รับความนิยมในผู้ผลิตรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีระบบและชิ้นส่วนน้อยกว่ารถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อหลัง มีเพียงชุดเกียร์ที่รวมเอาชุดเฟืองท้ายไว้ด้วยกัน และเพลาส่งกำลังไปล้อคู่หน้าจบ! รถแบบนี้จึงมีน้ำหนักรวมของระบบขับเคลื่อนน้อย มีชิ้นส่วนที่ต้องรองรับการเคลื่อนไหวน้อยลง ทำให้ลดภาระของเครื่องยนต์ลงไปได้มากกว่า แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง คือ ความทนทานของชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวในหลายองศาลดลง เช่น เพลาส่งกำลังก็มีอายุการใช้งานน้อยลง เพราะชิ้นส่วนที่ต้องรองรับทั้งกำลัง การบังคับทิศทางและขยับตัวตลอดเวลา ต้องทำงานหลายหน้าที่พร้อม ๆ กัน ทำให้ชุดลูกปืนเพลา ชุดยางกันฝุ่น และลูกปืนล้อ รวมถึงชิ้นส่วนในระบบกันสะเทือนมีอายุการใช้งานน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อหลัง รถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนประเภทล้อหน้า 2 ล้อ นี้ ได้แก่ เชฟโรเลต ครูซ โซนิค และสปิน ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าได้รับความนิยมมากที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์เนื่องจากมีขนาดเล็กซึ่งจะช่วยยกระดับความประหยัดเชื้อเพลิงและเพิ่มพื้นที่ภายในห้องโดยสาร นอกจากนี้น้ำหนักเครื่องยนต์ส่วนใหญ่จะตกบนล้อขับเคลื่อนคู่หน้าซึ่งจะช่วยเพิ่มการยึดเกาะถนนให้ดียิ่งขึ้น โดยทั่วไปรถขับเคลื่อนล้อหน้ามีแนวโน้มที่จะเกิดอาการอันเดอร์สเตียร์ (understeer หรือตัวรถไม่เลี้ยวตามการสั่งงาน) ซึ่งจะเกิดขึ้นหากมีการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงเกินไป ในสถานการณ์รุนแรง ตัวรถอาจไถลไปข้างหน้าโดยไม่สามารถควบคุมได้ถึงแม้ผู้ขับขี่จะหักเลี้ยวพวงมาลัยก็ตาม

ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง 2 ล้อ
มักจะมีชิ้นส่วนในการขับเคลื่อนมากกว่าระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อหน้า เช่น ระบบส่งกำลังที่มีชุดเกียร์ขนาดใหญ่ เพลากลางเพื่อส่งกำลังไปยังชุดเฟืองท้ายและแกนล้อด้านข้างที่ส่งกำลังไปหมุนดุมล้อ นอกจากนี้ยังมีจุดยึด จุดรองรับน้ำหนักการเคลื่อนไหวอีกมากมาย ข้อดีคือ แข็งแรงทนทาน มีอายุการใช้งานยาวนาน โดยมักจะนิยมใช้ในรถยุโรป รถปิคอัพ รถเพื่อใช้ในการขนส่งจนไปถึงรถบรรทุก จะเห็นว่าการมีชิ้นส่วนต่าง ๆ มากมายนั้น ต้องใช้กำลังจากเครื่องยนต์เอาชนะน้ำหนักของชิ้นส่วนต่าง ๆ กว่ากำลังที่เหลือจะถึงล้อหลังได้และบวกกับน้ำหนักตัวรถเข้าไปด้วย จึงทำให้รถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อหลัง ส่วนมาก มีอัตราเร่งด้อยกว่ารถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อหน้า ในส่วนของรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อหลังนั้นบริษัทผู้ผลิตก็มักจะคิดค้นหาวิธีการลดภาระของเครื่องยนต์ โดยในรถบางรุ่นเลือกใช้วัสดุน้ำหนักเบาในชิ้นส่วนต่างๆ รวมถึงลดน้ำหนักตัวรถและช่วงล่างลง นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตเครื่องยนต์ให้มีหนักเบาแต่เพิ่มกำลังได้มากขึ้น ในบางรุ่นก็เลือกใช้ระบบอัดอากาศหรือเทอร์โบเข้ามาเสริมให้มีพละกำลังดีขึ้นไปจนในปัจจุบันเราจะเห็นว่ารถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อหลังไม่ได้อืดอีกต่อไปแล้ว ในสถานการณ์การเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ระบบขับเคลื่อนล้อหลังมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการ โอเวอร์สเตียร์ (oversteer) ตัวรถจะหมุนไปมากกว่าการควบคุม ในสถานการณ์รุนแรงตัวรถจะสไลด์หรือหมุนคว้าง โอเวอร์สเตียร์เป็นอาการสูญเสียการทรงตัวที่ควบคุมได้ยากกว่าอันเดอร์สเตียร์จึงมีอันตรายมากกว่า

ระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ
นับว่ามีให้สมรรถนะในด้านการเกาะถนนที่ดีกว่า ควบคุมรถได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีกว่ารถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อ ทั้งหน้า และ หลัง เพราะการถ่ายกำลังได้ครบทุกล้อที่สัมผัสผิวถนนย่อมได้เปรียบ ระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ นั้นแบ่งได้ 2 ประเภท
1. ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Part Time
ระบบนี้ออกแบบมาให้ใช้ในสภาพเส้นทางทุรกันดาร เพื่อให้สามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ โดยผู้ขับสามารถเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนมาอยู่ในตำแหน่ง 4H หรือ 4L เครื่องยนต์จะถูกแบ่งไปที่ล้อคู่หน้าและหลังอย่างละ 50:50 ส่วนใหญ่รถที่มีระบบขับเคลื่อนแบบนี้จะมีระบบที่ช่วยกระจายแรงขับเคลื่อนไปในล้อที่มีแรงเสียดทานต่างกันให้มีแรงขับเคลื่อนที่เท่าๆ กัน ทั้ง 2 ข้าง
ข้อควรระวัง : เมื่อเราใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แล้วกำลังของเครื่องยนต์จะถูกแบ่งไปที่ล้อคู่หน้าและหลัง เวลาที่เลี้ยวจะเกิดอาการขืนที่พวงมาลัย จึงห้ามใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ วิ่งบนถนนที่คดโค้ง โดยใช้ความเร็วสูงๆ เด็ดขาด
นอกจากนี้ยังมีระบบขับเคลื่อนบางเวลาที่แยกย่อยลงไปอีก คือ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Real Time ระบบนี้ถูกออกแบบมาใช้ในถนนที่ไม่สมบุกสมบันมากนัก ส่วนใหญ่ระบบขับเคลื่อนหลักจะเป็นล้อคู่หน้า เมื่อล้อหลังล้อใดเกิดการหมุนในความเร็วที่ต่างกัน เช่น รถเกิดอาการลื่นไถล ระบบจะควบคุมให้ส่งกำลังมาที่ล้อหลังกลายเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อทันที แต่เมื่อใดที่กลับสู่สภาวะปกติ ก็จะปรับระบบขับเคลื่อนเป็นแบบขับเคลื่อน 2 ล้อ ทันที
2. ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Full Time
ระบบนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในรถยนต์นั่ง มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะถนน สามารถถ่ายทอดกำลังไปที่เพลาท้าย และเพลาหน้า ส่วนใหญ่ระบบนี้จะส่งกำลังไม่คงที่ เมื่อเลี้ยวรถจะทำให้ล้อคู่หน้าเกิดแรงเสียดทานมากกว่าล้อคู่หลัง ระบบจะถ่ายทอดกำลังไปที่ล้อคู่หลังมากกว่าล้อคู่หน้าเพื่อเพิ่มความคล่องตัว กลุ่มรถประเภท SUV ก็ใช้ระบบนี้ ระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ นั้นแม้ว่าจะได้สมรรถนะที่ดีกว่า แต่ก็มีชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนมากกว่า เพราะชิ้นส่วนที่เยอะมากมายนี่เองจึงทำให้รถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ มีค่าตัวที่สูงกว่านั่นเอง

ระบบขับแบบเคลื่อน 4 ล้อทั้ง 2 แบบแตกต่างกันอย่างไร ?
แบบ Part Time จะใช้งานต้องเลือกระบบขับเคลื่อนโดยปัจจุบันเป็นระบบชุดเกียร์ไฟฟ้าแทบหมดแล้ว เพียงกดสวิทช์หรือหมุนปุ่มปรับเลือกระบบการทำงาน H2 , H4 , L4 เป็นต้น และในรถบางรุ่นอาจมีโหมดย่อยให้เลือกอีกเช่น 4HLc หรือ 4LLc ใช้เฉพาะเส้นทางเจาะลึกเข้าไปอีกขั้นหรืออาจใช้เป็นโหมด “Snow” ใช้ขับขี่ผ่านเส้นทางเปียกลื่นได้ หรือ “Rock” หากต้องการกำลังตะกุยของล้อทั้ง 4 มากกว่าปกติ หรือว่าในโหมด “Gravel” กรวด ทราย สำหรับขับทางลูกรัง เป็นต้น
แบบ Full Time แต่เป็นการทำงานของระบบขับเคลื่อนที่จะส่งกำลังไปที่ล้อทั้ง 4 แต่จะแปรผันให้กำลังไปที่ล้อคู่หน้ามากกว่าล้อคู่หลังประมาณ 60 / 40 หรืออาจจะ 80 / 20 เมื่อมีล้อใดเริ่มมีอาการลื่นไถล ระบบก็จะลดทอนกำลังล้อนั้นและใช้ระบบเบรกช่วยลดความเร็วของล้อ พร้อมกับเพิ่มกำลังไปยังล้อที่เหลือให้ช่วยประคองจนกว่าล้อทั้ง 4 จะวิ่งได้ปกติ จากการดูข้อได้เปรียบ – เสียเปรียบแล้วหากเป็นด้านสมรรถนะระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ นั้นชนะใส ๆ แต่หากในแง่การใช้งานแบบทั่วไปนั้นยังเป็นรองระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อ ในหลายด้าน เพราะต่างมีจุดเด่นและด้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน งบประมาณ ฯลฯ
ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ ทำงานอย่างไร เราควรเลือกซื้อรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนให้ตรงกับชีวิตประจำวันหรือไลฟ์สไตล์ของครอบครัว เพราะรถที่ยิ่งมีระบบมากย่อมมีค่าดูแลรักษามากตามไปด้วย รถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อ ในปัจจุบันก็นับว่าเทคโนโลยีช่วยควบคุมการทรงตังต่าง ๆ มากมาย เพียงพอให้สามารถควบคุมรถได้อย่างปลอดภัย หรือหากซื้อรถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ ก็ได้เรื่องของการยึดเกาะถนนเพิ่มขึ้นอีก ควบคุมรถได้ดีในทางโค้งหรือผิวถนนเปืยกลื่น และขับผ่านเส้นทางแบบ Off-Road ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้หากใช้รถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ แล้วแทบไม่ได้ใช้เลย ก็จำเป็นต้องบำรุงรักษาระบบที่เพิ่มมา เพราะอาจเสื่อมสภาพเร็วกว่าใช้งานเป็นประจำด้วยซ้ำไปครับ
ด้วยความปรารถนาดีจาก เพจ ประกันรถถูกๆ ต่อง่ายๆ คุ้มครองเลย
สาระน่ารู้เรื่อง ประกันรถยนต์ที่ จริงจัง จริงใจ จริงจริง ♥
สนใจซื้อประกันรถยนต์ คลิ๊ก