jjjinsur.com ประกันรถถูกๆ ต่อง่าย คุ้มครองเลย

เจเจเจอินชัวร์ (JJJ insur)

JJJInsur.com

ระบบเกียร์รถยนต์

ระบบเกียร์รถยนต์

ระบบเกียร์รถยนต์ คือ ระบบส่งกำลัง หรือ ระบบเกียร์รถยนต์ ที่ช่วยให้ยานพาหนะสามารถเปลี่ยนเกียร์ หรือ ถ่ายโอนกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังล้อได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเมื่อมีความจำเป็น ซึ่งทำได้โดยการเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ โดยที่ในเกียร์ต่ำจะเพิ่มกำลังที่มีอยู่ ในขณะที่ลดความเร็ว สำหรับเกียร์ที่สูงขึ้นกลับตรงกันข้าม เกียร์ที่สูงขึ้นจะลดกำลังและเพิ่มความเร็ว สำหรับเกียร์ธรรมดาผู้ขับขี่มีหน้าที่ในการเปลี่ยนเกียร์โดยใช้คลัตช์และคันเร่ง ในทางกลับกันสำหรับระบบเกียร์อัตโนมัติรถจะตัดสินใจว่าเมื่อใดที่คุณต้องการเปลี่ยนเกียร์และจะดำเนินการให้คุณโดยอัตโนมัติ

ระบบเกียร์รถยนต์ แต่ละประเภท

ระบบเกียร์รถยนต์ หรือระบบส่งกำลังของรถยนต์ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รถสามารถขับเคลื่อนได้ ซึ่งเกียร์รถยนต์จะทำหน้าที่ส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังเพลาและล้อรถยนต์ ช่วยเพิ่มหรือลดความเร็ว และเปลี่ยนทิศทางของรถ เช่น เดินหน้า หรือ ถอยหลัง โดยทั่วไปแล้วเราจะรู้จักประเภทของเกียร์อยู่ 2 ชนิด คือ เกียร์ธรรมดา และเกียร์ออโต้ แต่หากจำแนกตามระบบการทำงานแล้วจะมีถึง 4 ชนิดด้วยกัน ดังนี้

1.เกียร์ธรรมดา

เกียร์ธรรมดา หรือ เรียกอีกอย่างว่าเกียร์กระปุก เป็นประเภทเกียร์ที่เก่าแก่ที่สุดมีชุดคลัตช์เป็นตัวตัดต่อกำลังจากเครื่องยนต์กับชุดเกียร์ โดยการเหยียบ-ปล่อยแป้นคลัตช์เมื่อต้องการเปลี่ยนจังหวะเกียร์ผ่านคันเกียร์ ซึ่งประกอบด้วยชุดเฟืองที่มีอัตราทดต่างกันสำหรับจังหวะเกียร์ต่าง ๆ แม้จะมีวิธีใช้งานที่ยุ่งยาก แต่ก็มีข้อดีคือ ดูแลรักษาหรือซ่อมบำรุงได้ง่าย มีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าเกียร์รูปแบบอื่น ๆ เราจะเห็นได้ว่า รถที่มีสมรรถนะสูงๆ กำลังเครื่องยนต์มากๆ หรือรถแข่ง จะใช้เกียร์ธรรมดาเป็นส่วนใหญ่ ต่อมามีการพัฒนาไปสู่การนำระบบไฟฟ้ามาช่วยเปลี่ยนเกียร์ เป็นเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดมาจากสนามแข่งขันรถ F1 นั่นเอง เราเรียกระบบนี้ว่า เกียร์ธรรมดาแบบอัตโนมัติ การทำงานของเกียร์ระบบนี้ ยังคงใช้การตัดต่อกำลังด้วยคลัทช์แบบแผ่นแห้ง เหมือนเกียร์ธรรมดา แต่เพิ่มระบบไฟฟ้าที่ควบคุมด้วยกล่องสมองกล หรือ ECU เพื่อใช้ในการควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ ลักษณะการเปลี่ยนเกียร์นั้น ใช้หลักเกณฑ์การทำงานในการเปลี่ยนเกียร์แบบเกียร์อัตโนมัติ โดยใช้ความเร็วของตัวรถ องศาของคันเร่ง น้ำหนักบรรทุก เป็นเงื่อนไขในการปรับเปลี่ยนเกียร์ให้เหมาะสมกับความเร็ว จังหวะการตัดต่อ และเปลี่ยนเกียร์นั้น มีการคำนวณออกมาแล้ว ให้มีจังหวะการทำงานใกล้เคียงกับการเหยียบและถอนคลัทช์ของมนุษย์มากที่สุด เพื่อความนุ่มนวลในการถ่ายทอดกำลัง

2.เกียร์อัตโนมัติ

เกียร์อัตโนมัติ เป็นเกียร์ที่ได้รับความนิยมมากกว่าเกียร์ธรรมดา ด้วยวิธีการใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องเหยียบคลัตช์เพื่อเปลี่ยนเกียร์ โดยเกียร์อัตโนมัติจะมีทอร์คคอนเวอร์เตอร์เป็นตัวส่งกำลังจากเครื่องยนต์ ในขณะที่การควบคุมการเปลี่ยนเกียร์จะกระทำโดยคอมพิวเตอร์ผ่านชุดเฟือง การเรียงลำดับของเกียร์จะแทนด้วยตัวอักษรซึ่งอาจจะแตกต่างกันในบางรุ่นหรือตามแต่ผู้ผลิต ระบบนี้เกียร์จะเปลี่ยนตำแหน่งเอง ตามความเร็วรอบเครื่องยนต์ องศาลิ้นเร่ง น้ำหนักบรรทุก การตัดต่อกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังระบบเกียร์ใช้ทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ซึ่งใช้น้ำมันเป็นตัวส่งถ่ายกำลัง ข้อเสียของเกียร์อัตโนมัติที่ใช้ทอร์คคอนเวอร์เตอร์ คือ มีการสูญเสียกำลังจากเครื่องยนต์มากกว่า เพราะต้องใช้กำลังจากเครื่องยนต์ส่วนหนึ่งไปสร้างแรงดัน ทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดกำลังลงสู่พื้นได้อย่างเต็มที่ และเมื่อเครื่องยนต์มีกำลังสูงมากๆ ระบบเกียร์อัตโนมัติอาจจะไม่สามารถทนทานต่อกำลังสูงๆ ได้ บรรดาซูเพอร์คาร์ จึงหันมาใช้ระบบส่งกำลังแบบคลัทช์แผ่นแห้ง ที่ควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ด้วยระบบอัตโนมัติแทน

ระบบเกียร์รถยนต์


ทิพทรอนิค มัลทิทรอนิค สปอร์ทรอนิค คืออะไร ?

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียง และกลายเป็นความเข้าใจผิด คิดว่ามีระบบเกียร์ที่หลากหลายรูปแบบทั้งที่จริงแล้ว มันก็คือ ” เกียร์อัตโนมัติ “ ที่มีฟังค์ชันหนึ่งที่สามารถ ” เปลี่ยนเกียร์ได้เหมือนเกียร์ธรรมดา “ แม้ว่าฟังค์ชันการเปลี่ยนเกียร์ ในตำแหน่ง + หรือ – ที่คันเกียร์ หรืออาจจะมีที่พวงมาลัยด้วยก็ตาม คนส่วนใหญ่จะสับสนกับเกียร์อัตโนมัติ ที่ผู้ขับขี่สามารถเปลี่ยนเกียร์เองได้ว่า ” เปลี่ยนเกียร์ได้เหมือนเกียร์ธรรมดา “ ตามคำโฆษณาของบริษัทรถยนต์ต่างๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า เปลี่ยนเกียร์ได้เหมือนเกียร์ธรรมดา เพราะลักษณะการส่งถ่ายกำลัง ก็ยังคงใช้ทอร์คคอนเวอร์เตอร์อยู่ ซึ่งนั่นก็คือ เกียร์อัตโนมัติ บางค่ายออกแบบมาให้การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์สูงขึ้นนั้น มีการออกแบบให้ระบบไม่ยอมเปลี่ยนเกียร์สูงให้ แม้ผู้ขับขี่จะลากรอบจนทะลุเรดไลน์ หรือเมื่อผู้ขับขี่ไม่เปลี่ยนเกียร์ ระบบจะตัดการจ่ายน้ำมันเพื่อไม่ให้รอบสูงมากจนอันตราย บางค่ายก็ออกแบบให้มีการเปลี่ยนเกียร์ เมื่อผู้ขับขี่ลืม หรือไม่ยอมเปลี่ยนเกียร์เอง ระบบจะทำการเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้นให้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับระบบเกียร์ แม้บางค่ายจะออกแบบมาเพื่อต้องการให้มีความรู้สึกเหมือนเกียร์ธรรมดา คือ จะไม่ยอมเปลี่ยนเกียร์สูงเมื่อถึงย่านเรดไลน์ จนกว่าผู้ขับขี่จะเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้นเอง แต่เมื่อมีการลดความเร็วลง จนเหลือความเร็วต่ำมากๆ หรือจอดรถสนิท ระบบก็จะเปลี่ยนมาเป็นเกียร์ 1 หรือ 2 ให้ สามารถออกตัวได้ทันที เพื่อป้องกันอันตราย หรืออุบัติเหตุ กรณีผู้ขับขี่เหยียบเบรคฉุกเฉิน และต้องการออกตัวในทันทีเพื่อหลบหลีกอุบัติเหตุ แม้ว่าผู้ผลิตต้องการให้การเปลี่ยนเกียร์มีความรู้สึกใกล้เคียงเกียร์ธรรมดา แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องมาก่อนเสมอ นั่นคือ เรื่องของความปลอดภัยในการใช้งาน

เทคนิคการใช้ เกียร์รถยนต์ ออโต้

  • ตำแหน่ง P สำหรับใช้จอดรถบริเวณที่ลาดชันหรือจอดรถโดยไม่กีดขวางรถคันอื่น
  • ตำแหน่ง R ใช้เวลารถถอยหลัง เป็นตำแหน่งที่อันตรายมากที่สุด เวลาใช้ให้เหยียบเบรกทุกครั้งที่เข้าเกียร์ เพื่อให้รถค่อยๆ ถอยหลังช้าๆ
  • ตำแหน่ง N เป็นตำแหน่งเกียร์ว่าง ใช้สำหรับการหยุดรถชั่วคราวหรือจอดรถในตำแหน่งที่กีดขวางเส้นทางจราจ -ตำแหน่ง D ใช้เวลาขับรถเดินหน้าปกติ
  • ตำแหน่ง 2 ใช้เมื่อขับรถขึ้นทางลาดชันที่ไม่สูงมาก สามารถใช้ความเร็วได้พอสมควร
  • ตำแหน่ง L ใช้ความเร็วต่ำ สำหรับการขับขี่ขึ้นทางลาดชันที่สูงมาก


3.เกียร์ CVT

เกียร์ CVT หรือ Continuously Variable Transmission หรือเกียร์ที่มีอัตราทดแปรผัน บ้างก็เรียกว่า เกียร์แบบอัตราทดแบบต่อเนื่อง จะเป็นเกียร์อัตโนมัติรูปแบบใหม่ที่ให้ความนุ่มนวลขณะเปลี่ยนเกียร์มากขึ้น ภายในประกอบด้วยด้วยลูกรอก 2 ชุด (Pulleys) กับสายพาน (อาจเป็นยางหรือโซ่ในรถบางรุ่น) แต่มีข้อเสียในเรื่องของความทนทานที่อาจไม่เท่ากับเกียร์อัตโนมัติแบบเก่า ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมค่อนข้างสูง เพราะตอนออกตัวรถต้องการแรงบิดมาก เฟืองขับต้องใหญ่ เฟืองตามต้องเล็ก เกียร์ CVT ที่มีพูลเลย์ 2 ตัว คือ ตัวขับ (PRIMARY PULLEY) และตัวตาม (SECONDARY PULLEY) มันก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ เมื่อออกตัว พูลเลย์ด้านขับจะขยับตัวเข้าหากัน เพื่อเลื่อนสายพานให้ขึ้นอยู่ชิดขอบพูลเลย์ เหมือนกับการใช้เฟืองใหญ่ ส่วนพูลเลย์ด้านตามก็จะกางตัวออกให้สายพานลงไปชิดแกนหมุน เพื่อให้เหมือนกับเฟืองตัวเล็กนั่นเอง เมื่อความเร็วเพิ่มขึ้น เฟืองขับก็จะค่อยๆ ลดขนาดลง ในขณะที่เฟืองตามค่อยๆ โตขึ้น ซึ่งเป็นไปอย่างนุ่มนวล ไม่มีอาการสะดุด หรือกระตุก การทำงานจะควบคุมด้วยวงจรอีเลคทรอนิคส์ คอมพิวเตอร์ ซึ่งให้ความแม่นยำสูงเกียร์แบบนี้ ไม่มีตำแหน่งเกียร์ว่าจะเป็น 4, 5 หรือ 6 เกียร์ แต่การที่ผู้ผลิตนำมาโฆษณาก็เพราะต้องการให้ผู้คนรู้สึกว่า ระบบนี้ไม่ได้แตกต่างจากระบบเกียร์อัตโนมัติทั่วไป รวมถึงการเพิ่มตำแหน่งเกียร์ให้มากขึ้นกว่าปกตินั้น ก็กลายเป็นสิ่งที่ดึงดูด ทั้งที่จริงสามารถออกแบบให้มีอัตราทดเท่าไรก็ได้ไม่จำกัด

4.เกียร์กึ่งอัตโนมัติ และเกียร์คลัตช์คู่ DCT

ย่อมาจาก Dual-clutch Transmission หรือที่รู้จักกันในชื่อ เกียร์คลัทช์คู่ เป็นเกียร์อัตโนมัติที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรถเล็กหรือรถใหญ่ จะอีโคคาร์หรือซุปเปอร์คาร์ เกียร์ DCT ก็ได้กลายมาเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้ เกียร์ DCT นั้น หลักๆ แล้วก็จะสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท นั่นก็คือ DCT คลัทช์แห้ง และ DCT คลัทช์เปียก  DCT ทั้งสองประเภทนี้ ถึงแม้จะมีโครงสร้างที่ต่างกัน แต่หลักการทำงานนั้นเหมือนกัน ถ้าเปรียบเทียบในแง่ของสมรรถนะการส่งกำลังแล้ว DCT คลัทช์แห้งนั้น มีสมรรถนะในการส่งกำลังที่มากกว่าแบบคลัทช์เปียก อย่างไรก็ตามสำหรับรถยนต์ที่มีทอร์คสูงๆ ก็มักจะมาพร้อมกับ DCT แบบคลัทช์เปียก เนื่องจากว่าสามารถระบายความร้อนได้ดีกว่า อีกทั้งยังสามารถส่งกำลังได้นุ่มนวลกว่าด้วย


ด้วยความปรารถนาดีจาก เพจ ประกันรถถูกๆ ต่อง่ายๆ คุ้มครองเลย

สาระน่ารู้เรื่อง ประกันรถยนต์ที่ จริงจัง จริงใจ จริงจริง ♥

สนใจซื้อประกันรถยนต์ คลิ๊ก

Scroll to Top